กรอบแนวคิดและหลักการดำเนินงาน
กรอบแนวคิดของโครงการ
โครงการมุ่งพัฒนาครูอาสาสมัคร (ครู ศศช.) ให้มีความรู้ทัศนคติและทักษะ เพื่อดำเนินการพัฒนายุวกรรมการหย่อมบ้าน โดยประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐฯและเอกชน องค์กรชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ยุว กรรมการหย่อมบ้านเป็นผู้ช่วยครู ครูชาวบ้าน และผู้นำชุมชนในที่สุด
หลักการโครงการ
1. พึ่งตนเอง ถือเป็นแนวคิดหลักของโครงการ ดังนั้นจึงสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง เช่น กองทุนต่างๆ กลุ่มอาชีพ ร้านค้าหมู่บ้าน รวมทั้งการดำเนินโครงการจะมุ่งเน้นให้กลุ่มได้ช่วยตัวเองเป็นหลัก
2. มีส่วนร่วม โครงการจะเน้นการมีส่วนร่วมในทุกระดับกิจกรรม เช่น ให้ครูอาสาสมัครประชาพิจารณ์โครงการ ให้องค์กรชาวบ้านเลือกยุวกรรมการ ให้ยุวกรรมการคิดและพัฒนาโครงการด้วยตนเอง เป็นต้น
3. เพื่อสังคม เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของโครงการ กิจกรรมของโครงการจะมุ่งเน้นช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมโดยรวม ไม่เน้นเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ
4. ภูมิปัญญาท้องถิ่น ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของโครงการเพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ ผู้รู้ของชาวบ้าน ดังนั้นโครงการจะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ เช่น ขอให้ผู้อาวุโสสอนเรื่องศิลปวัฒนธรรม ให้สมาชิก อบต. แนะนำบทบาทหน้าที่และแนวทางการทำงานของ อบต. เป็นต้น
วิธีการดำเนินงาน
1. คัดเลือกหย่อมบ้าน ดำเนินการคัดเลือกหย่อมบ้านที่ตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” โดยจะทำการคัดเลือกจาก 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ ตาก ซึ่งการคัดเลือกจะพิจารณาจากคุณสมบัติของครูอาสาสมัคร โดยให้ กศน.จังหวัด ร่วมกับ ศูนย์อำเภอ คัดเลือก โดยมีเกณฑ์ดังนี้
1.1 ครูอาสาสมัคร มีความตั้งใจทำงาน มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและมีแนวคิดที่ดีในการทำงาน และจะไม่ย้ายไปสอนยังสถานศึกษาอื่น ภายในระยะเวลาของโครงการฯ 3 ปี
1.2 ผู้นำหย่อมบ้าน มีความกระตือรือร้นและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชนฯ
1.3 หย่อมบ้านนั้นๆ มีเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการพอสมควร
1.4 ความสะดวกในการเดินทางเข้าออกอยู่ในระดับปานกลาง เพื่อประโยนช์ในการนิเทศและดูงาน
2. ประชุมอบรมสัมมนาครูอาสาสมัคร ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญของโครงการ มีจุดมุ่งหมายให้ครูอาสาสมัคร มีความรู้ความสามารถ แนวคิดและทักษะที่จะถ่ายทอดไปสู่กลุ่มเป้าหมาย คือ ยุวกรรมการหย่อมบ้าน ซึ่งต้องมีการประชุม อบรม สัมมนา อย่างต่อเนื่องปีละ 2 ครั้ง
3. คัดเลือกเยาวชน ซึ่งเยาวชน คือ กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ ที่ต้องพัฒนาเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ สามารถเป็นแกนนำในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาหมู่บ้าน เยาวชนอาจจะกำลังเป็นนักเรียนหรือไม่ก็ได้ มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี อาศัยอยู่ในหย่อมบ้านนั้น และคาดว่าจะอาศัยอยู่ในหย่อมบ้านนั้นต่อไป มีลักษณะเป็นผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี โครงการจะมอบให้หมู่บ้านทำการคัดเลือกเยาวชนหย่อมบ้านละ 5 – 15 คน
4. การตั้งยุวกรรมการหย่อมบ้าน ยุวกรรมการเป็นองค์กรของเยาวชน มีบทบาทหน้าที่พัฒนาหย่อมบ้านและการศึกษาในแนวทางการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง กรรมการแต่ละหย่อมบ้านจะต้องมีตำแหน่งประธาน รองประธาน เลขานุการ การเงิน และอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น อนามัย สิ่งแวดล้อม เกษตร เป็นต้น
5. พัฒนายุวกรรมการ กิจกรรมหลักของโครงการเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นพัฒนาเยาวชนเป็นผู้นำของหย่อมบ้าน กิจกรรมจะดำเนินหลายกิจกรรมต่อเนื่องสนับสนุนกัน อาทิเช่น
5.1 ฝึกอบรม มุ่งเน้นให้ครูอาสาสมัครและคณะนิเทศ ดำเนินการฝึกอบรมยุวกรรมการในหย่อมบ้าน โดยดำเนินการเป็นระยะๆ มุ่งเน้นพัฒนาแนวความคิดการพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง และแนวทางในการปฏิบัติงาน
5.2 ศึกษาดูงาน เป็นกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และทัศนคติที่ดีที่สุด ดังนั้นการนำยุวกรรมการไปศึกษาดูงานกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิดและกระบวนการทำงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งและควรทำเป็นประจำต่อเนื่อง
5.3 ดำเนินกิจกรรมยุวกรรมการหย่อมบ้าน จะต้องดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาหย่อมบ้านและพัฒนาการศึกษาและดำเนินกิจกรรมเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน โดยความเห็นชอบของหย่อมบ้าน
5.4 การศึกษาต่อเนื่อง ยุวกรรมการทุกรายต้องศึกษาต่อสายสามัญระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นอย่างน้อย และบางรายอาจเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย กศน. จะต้องให้เรียนฟรีเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของบุคคล
6. ฝึกงานยุวกรรมการหย่อมบ้าน ให้ช่วยครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฯ เช่น ช่วยสอนเด็กเล็ก ช่วยเป็นล่ามในการประชุมชาวบ้าน ช่วยดูแลความสะอาดเรียบร้อย ดูแลศูนย์การเรียนฯ เมื่อครูไม่อยู่ เป็นต้น
7. การตั้งกองทุน ซึ่งกองทุนจะเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรม เพื่อเป็นทุนในการดำเนินงาน โครงการจะมอบเงินสมทบกองทุนให้แต่ละ ศศช. โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นความต้องการของชุมชนและชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม
8. นิเทศ ติดตามและประเมินผล กิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นและปรับทิศทางในการดำเนินโครงการ ดังนั้นโครงการจะให้ความสำคัญต่อการนิเทศ ติดตามและประเมินผลระหว่างดำเนินการ ปรับปรุงและพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง
9. ส่งเสริมและสนับสนุนยุวกรรมการให้เป็นครูชาวบ้าน
ผู้รับผิดชอบโครงการ
1. โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า
2. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
3. หน่วยงานภาครัฐฯ และ ภาคเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.57 – มิ.ย.60
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ยุวกรรมการได้รับการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างดี สามารถเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน