หลักการและเหตุผล

หลักการและเหตุผล

     ชุมชนบนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นชุมชนของชนเผ่า เช่น ปกาเกอะญอ ม้ง เมี้ยน อาข่า ลิซู และลาหู่ ซึ่งมีประมาณ 3,500 หย่อมบ้าน มีประชากรราว 8 แสนคน เป็นชุมชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง อยู่ห่างไกลและการคมนาคมยากลำบาก เป็นชุมชนที่ด้อยโอกาส ขาดการพัฒนาการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน และการศึกษา ชนเผ่าเหล่านี้มีปัญหาเรื่องสัญชาติ สิทธิที่ดิน รวมทั้งปัญหาคุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตของชนเผ่า ซึ่งได้ส่งผลต่อปัญหาของประเทศ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความมั่นคง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

     จากสภาพปัญหาดังกล่าวรัฐฯ และองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้าไปบริการและแก้ไขปัญหา เช่น กองสงเคราะห์ชาวเขา ตำรวจตระเวนชายแดน โครงการหลวง โครงการของสหประชาชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ แต่การบริการจากองค์กรดังกล่าวยังดำเนินการได้ในขอบเขตจำกัดทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพรวมถึงความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า

      สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เข้าไปดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ในรูปแบบการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสำหรับชาวเขา และพัฒนาเป็นโครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) เมื่อปี พ.ศ.2523 และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” เมื่อปี พ.ศ.2539 ปัจจุบันมีศูนย์การเรียนฯ ดังกล่าวในกว่า 600 หย่อมบ้าน โดยมุ่งจัดให้เป็นการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม การศึกษาเพื่อปวงชนและการศึกษาตลอดชีวิต โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเป้าหมายให้ชุมชนบนพื้นที่สูงเป็นสังคมการเรียนรู้และพึ่งตนเอง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐฯและเอกชน

     โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เป็นองค์กรการกุศลที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่วัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างและวัสดุการเรียน กองทุนกู้ยืมของครูอาสาสมัคร กองทุนยา ธนาคารข้าว ฯลฯ รวมทั้งชักนำองค์กรอื่นๆ ได้เข้าไปดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผู้ด้อยโอกาสในเขตภูเขา 

     การดำเนินงานศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ได้ผลในระดับหนึ่ง ที่เข้าไปจุดประกายการศึกษาให้กับชนเผ่าเหล่านั้น แต่ยังประสบปัญหาตลอดมา ในแง่คุณภาพของการศึกษา ความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ คุณภาพและทัศนคติของบุคลากรในทุกระดับ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับชุมชน โดยมีปัญหาใหญ่ คือ การลาออกของครูอาสาสมัคร ซึ่งมีผลมาจากแรงบีบคั้นของความยากลำบาก ทัศนคติความเข้าใจต่อชาวบ้าน และความมั่นคงในอาชีพรวมทั้งการได้งานใหม่ ทำให้การจัดการศึกษาและการบริหารจัดการไม่ต่อเนื่อง

     โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนาได้ด้วยตนเอง เพื่อแก้ไขความไม่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครูอาสาสมัคร จึงเห็นสมควรจัดทำโครงการพัฒนายุวกรรมการหย่อมบ้านขึ้น