ความเป็นมา
ความเป็นมา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนพระทัยและห่วงใยในความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร และทรงมีพระเมตตาสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอตลอดมา ดังที่พระองค์ท่านได้ทรงตั้งองค์กรการกุศลขึ้นหลายองค์กร และเมื่อกลางปี พ.ศ.2535 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานสิ่งสนับสนุนที่เหมาะสมให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงมุ่งเน้นประชาชนผู้ด้อยโอกาส ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารและบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ทรงพระราชดำริว่าอาศรมศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย" ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนราชการที่เข้าไปดำเนินงาน คลุกคลีอยู่กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ควรจะเป็นศูนย์กลางของการช่วยเหลือสนับสนุนได้ดี
พระเมตตาที่องค์สมเด็จย่าทรงมีกับประชาชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารจะเน้นกิจกรรมที่ประชาชนต้องการและเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องและถาวร เป็นการฝึกอบรมให้ผู้รับคือครูอาสาสมัครและประชาชนเหล่านั้น ได้รู้จักการบริหารกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมของเขาเอง เป็นการพัฒนาให้เขาได้รู้จักพึ่งตนเอง
การดำเนินงานในปัจจุบัน
เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตแล้ว กิจกรรมต่างๆ ได้ดำเนินต่อไปภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และรับการสนับสนุนจาก “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” โดยมีชื่อว่า “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” มีผู้รับผิดชอบ คือ คณะอำนวยการ มีฝ่ายปฏิบัติการ 4 ฝ่าย คือ ฝ่ายแผนและกิจกรรม/โครงการ ฝ่ายจัดหาทุนและสิ่งสนับสนุน ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และ ฝ่ายนิเทศและติดตามผล โดยมีคณะที่ปรึกษาให้คำแนะนำตามความเหมาะสม
โครงการพระเมตตาสมเด็จย่านี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากพระราชปณิธานของสมเด็จย่า เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส ที่ภาครัฐและองค์กรอื่นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เป้าหมาย คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งมีอาศรมศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ซึ่งมีประมาณกว่า 600 หมู่บ้าน หรือหมู่บ้านอื่นที่มีองค์กรที่จะรองรับการสนับสนุนความช่วยเหลือจากโครงการนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา และ น่าน รวมถึงพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน
ในอดีตค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเหล่านี้ส่วนมากได้มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จย่า นอกเหนือจากนั้นจะเป็นการสนับสนุนจากข้าราชบริพารและองค์กรอื่นๆ สมเด็จย่าจะทรงกำชับเสมอว่า “พยายามอย่ารบกวนผู้อื่น” พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ที่จะทำบุญด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน ปัจจุบันงบประมาณในการดำเนินการกิจกรรมเหล่านี้มาจาก “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นรองประธานฯ
ทั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคได้ที่ "ทุนการกุศลสมเด็จย่า" โดยแสดงความจำนงว่าบริจาคเพื่อ “โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า” ในการนี้ทุนการกุศลสมเด็จย่าจะออกใบเสร็จรับเงิน ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปีที่บริจาคได้