ความเป็นมา

ความเป็นมาโครงการ

     ครู เป็นบุคลากรที่มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารต่างๆ หลายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งชาวไทยภูเขาก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญมาก โดยมีรูปแบบของการเรียนการสอนที่แตกต่างจากพื้นราบ เช่น ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (ศศช.) ของสำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ครูตำรวจตะเวนชายแดน (ตชด.) และ ครูประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เข้าไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีหลักสูตร เนื้อหาและวิธีการจัดการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่

    การพัฒนาและการดำเนินงานของครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ จะเป็นผู้ประสานงานและตัวแทนของส่วนราชการต่างๆ เข้าไปคลุกคลีและฝังตัวดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชน การเดินทางเข้าไปในพื้นที่จะประสบกับปัญหาความยากลำบาก บางพื้นที่รถไม่สามารถเข้าไปถึงในหมู่บ้านได้ ต้องเดินเท้าเป็นเวลาหลายวัน เพื่อทำหน้าที่หลักในการสอนหนังสือให้กับเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงให้รู้ภาษาไทยเพื่อที่จะได้สื่อสารกับคนไทยทั่วไปได้ นอกจากนี้แล้วครูยังต้องปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ อีกมากมาย เช่น เป็นผู้ตรวจและรักษาโรคในยามจำเป็น โดยเฉพาะการตรวจและการจ่ายยารักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งบางพื้นที่ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และยังห่างไกลสถานีอนามัย ต้องเดินเท้านานกว่า 1 วัน ทำให้คนป่วยส่วนมากไม่นิยมเดินทางไปรักษา ทำให้อาการป่วยทรุดหนักและเสียชีวิตจำนวนมาก ครูต้องทำหน้าที่บริหารกองทุนสนับสนุนต่างๆ เช่น กองทุนยาสามัญประจำบ้าน ธนาคารข้าว โครงการส่งเสริมการเกษตรของหมู่บ้านและโรงเรียน โครงการส่งเสริมอาชีพของชาวบ้าน รวมถึงยังเป็นศูนย์กลางของประชาชนด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารสำหรับการประสานงาน และติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ ขณะเดียวกันยังต้องประพฤติปฏิบัติและครองตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และชาวบ้านอีกด้วย ดังนั้นครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร จึงต้องเป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยชุมชนให้มีการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน

  โครงการพระเมตตาสมเด็จย่าได้เห็นถึงความเสียสละของครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างของการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้เป็นคนดีและคนเก่ง ตามพระปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงได้จัดทำโครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญกำลังใจ โดยมอบรางวัลแก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด และเป็นการเผยแพร่ผลงานคุณงามความดี และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ได้รับรางวัล ให้เป็นแบบอย่างการทำความดีให้ปรากฏแก่ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป